Accessibility Tools

ศูนย์วิเทศอาเซียน
ASEAN Cooperation Center

image

ศูนย์วิเทศอาเซียน สำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

‘ฟินเทค’ สัญชาติอินโดนีเซีย โตต่อเนื่องในยุค ‘โควิด-19’image
image

         

          การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจทั่วโลกหยุดชะงัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดถูก “ล็อกดาวน์” เพื่อควบคุมการกระจายของไวรัส แต่กลับส่งผล กระทบเพียงเล็กน้อยต่อธุรกิจที่ไม่ต้องมีการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคล เช่นธุรกิจที่ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ อย่างบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินหรือ “ฟินเทค” (FinTech) ที่ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในตลาดที่น่าสนใจคือ “อินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมาอย่างแข็งแกร่งก่อนหน้านี้

          ฟอร์บสรายงานว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด โดยรายงาน “อนาคตของบริการทางการเงินดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” งานวิจัยร่วมกันของกูเกิล, เทมาเส็ก และเบนแอนด์คอมปะนี ในปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโคโรน่าไวรัส ระบุว่า ภาคบริการทางการเงินดิจิทัลของอินโดนีเซียในปี 2019 มีมูลค่าถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025

          โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สตาร์ตอัพฟินเทคของอินโดนีเซียเติบโตมาจากความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าในพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของชาวอินโดนีเซีย โดยรายงานของ “เบนแอนด์คอมปะนี” ระบุว่า ประชากรวัยทำงานของอินโดนีเซียกว่า 50% หรือราว 92 ล้านคน เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคาร โดยพบว่าประชากรอินโดนีเซียที่มีบัญชีเงินฝาก การเข้าถึงสินเชื่อ ไปจนถึงการลงทุน และประกันชีวิตรวมกันเพียง 42 ล้านคนเท่านั้น

          นอกจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลอินโดนีเซีย ทำให้บริษัทฟินเทคหลายแห่งในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และถึงแม้จะเกิดสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรง รัฐบาลทั่วโลกต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์และการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกแต่กลับเปิดทางให้ฟินเทคของอินโดนีเซียเติบโต

          สมาคมฟินเทคอินโดนีเซีย (AFTECH) ระบุว่า การเติบโตของสตาร์ตอัพ “ฟินเทค” มาจากการพัฒนาบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริการสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลรูปแบบใหม่ (peer-to-peer lending), การระดมทุนสาธารณะ (crowdfunding) และเทคโนโลยีธุรกิจประกันภัยหรือ “อินชัวร์เทค” (insuretech) รวมถึงความสามารถของฟินเทคที่สามารถเข้าถึง และดูแลลูกค้าผ่านระบบออนไลน์อย่างช่องทางโซเชียลมีเดีย และการให้คำปรึกษาทางการเงินอัตโนมัติด้วย ส่งผลให้สตาร์ตอัพฟินเทคสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง และเข้าถึงคนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องแม้ในภาวะวิกฤต

          อย่างไรก็ตาม บริการฟินเทคบางประเภทก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน อย่างกรณีผู้ให้บริการเงินออนไลน์ ก็เจอปัญหาที่ลูกค้าจำนวนมากไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามกำหนด เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้ฟินเทคต้องมีมาตรการเยียวยา เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

          สำหรับสตาร์ตอัพฟินเทคสัญชาติอินโดนีเซียที่กำลังได้รับความสนใจ อาทิ “อมาร์ธา” (Amartha) ผู้ให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบพีทูพีที่มีลูกค้ากว่า 1.6 แสนคน ที่มีการปล่อยกู้กว่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018, “เช็กอาจาดอตคอม” (CekAja.com) ผู้ให้บริการเปรียบเทียบข้อมูลบริการทางการเงิน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อต่าง ๆ ที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 30 ล้านคน และ “อินเวสทรี” (Investree) ผู้ให้บริการสินเชื่อสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เพิ่งระดมทุนเพิ่มอีก 23.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

          รวมถึง “โกเพย์” (GoPay) บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ของ “โกเจ็ก” (GoJek) แพลตฟอร์มมัลติเซอร์วิสยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านคน ซึ่งล่าสุด “เฟซบุ๊ก” เพิ่งประกาศร่วมลงทุนครั้งใหญ่ร่วมกับโกเจ็ก นับเป็นสัญญาณของความแข็งแกร่งของสตาร์ตอัพฟินเทคในอินโดนีเซียที่แม้โควิด-19 ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความเติบโตได้

 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์  https://www.prachachat.net/world-news/news-473964