Accessibility Tools

ศูนย์วิเทศอาเซียน
ASEAN Cooperation Center

image

ศูนย์วิเทศอาเซียน สำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

อัพเดทสถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ในอาเซียนimage
image

อัพเดทสถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ในอาเซียน

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในอาเซียน ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 เวลา 19:30 น.

-สิงคโปร์      +1,037 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 11,178 ราย) 
-อินโดนีเซีย  +357 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 7,775 ราย)
-ฟิลิปปินส์     +271 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 6,981 ราย)
-มาเลเซีย       +71 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 5,603 ราย)
-ไทย              +13 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 2,839 ราย)
-พม่า                +4 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 127 ราย) 
-บรูไน               +0 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 138 ราย)
-เวียดนาม         +0 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 268 ราย) 
-กัมพูชา            +0 ราย (รวมติดเชื้อสะสม  122 ราย)
-ลาว                 +0 ราย  (รวมติดเชื้อสะสม 19 ราย)

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

มาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19

ว่ากันว่า 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนของเรามีนักท่องเที่ยวรวมกันไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน เนื่องจากความหลากหลายของอาเซียนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก และแน่นอนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของทุกประเทศ โดยรัฐบาลทุกประเทศต่างเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวออกมากันอย่างต่อเนื่อง

“มิ่งขวัญ เมธเมาลี” ประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA : ASEAN Tourism Association) ทำสรุปข้อมูลมาตราการการสนับสนุนทั้งหมดของรัฐบาลในแต่ละประเทศในอาเซียนไว้ ดังนี้

“มิ่งขวัญ” ระบุว่าในส่วนของประเทศไทย นั้นจากการรวบรวมขณะนี้พบว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาแล้ว ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ดังนี้ คือ

1. ขยายเวลาการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน และสามารถขอสินเชื่อใหม่ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี นาน 2 ปี ฟรีดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

2. ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 5% ของยอดเงินคงเหลือ (สำหรับบัตรเครติด)

3. ลดภาระหน้าที่ของธนาคารในการลดการส่งเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี

4. ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดตราสารหนี้

5. รัฐบาลจะจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้กับผู้ว่างงาน หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นเวลา 3 เดือน

6. หากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หรือถูกปิดโดยนโยบายของรัฐบาล สำนักงานประกันสังคมจ่ายชดเชยค่าจ้าง 62% ของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 90 วัน

7. รัฐบาลได้ยกเว้นการเสียภาษีเป็นเวลา 6 เดือน และให้ลดหย่อนภาษีจากการประกันภัย จำนวน 25,000 บาท

 

สิงคโปร์ รัฐบาลจ่าย 25% ของค่าจ้างรายเดือนสำหรับคนงานท้องถิ่นทุกคนในการจ้างงานสูงสุดที่ 4,600 เหรียญสิงคโปร์ เป็นเวลา 9 เดือน ตั้งแต่เมษายนจนถึงสิ้นปี 2020 ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การสนับสนุนจะสูงขึ้นมากถึง 75% เช่น ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกระแสเงินสดและสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าแรงงานต่างชาติรายเดือน (FWL) ครบกำหนดในเดือนเมษายน 2563 เพื่อช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสด ลดค่าแรงงาน FWL จาก 750 เหรียญสิงคโปร์ในเดือนเมษายน 2020 ที่เรียกเก็บในปีนี้สำหรับใบอนุญาตทำงานหรือผู้ถือ S pass รวมถึงจ่ายเงินเพิ่ม 300 เหรียญสิงคโปร์ สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 21 ในปี 2563 และ 800 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน

ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับตัวแทนการท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตของ Singapore Tourism Board (STB) และลดค่าธรรมเนียมการมีส่วนร่วม 50% สำหรับ STB นำงานแสดงสินค้าและโรดโชว์เข้ามา นอกจากนี้ ยังเพิ่มการคืนเงินภาษีสำหรับอาคารเชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า และร้านอาหาร จาก 15% หรือ 30% เป็น 100% สำหรับทรัพย์สินที่ได้รับการปรับปรุงสำหรับปี 2563

รวมทั้งคืนเงินภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสำหรับรีสอร์ตโดยรวมจาก 10% เป็น 60% เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวในการฟื้นฟูให้ดีดตัวขึ้นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

 

อินโดนีเซีย รัฐบาลมีมาตรการลดหย่อนเครดิตของธนาคาร มีนโยบายการออกภาษีใหม่ และรัฐบาลเสนอการจ่ายเงินสดเป็นค่าจ้างรายเดือน 3 เดือนสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดในระบบการเงิน รวมถึงเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานประจำวัน

 

เมียนมา รัฐบาลประกาศลดสินเชื่อดอกเบี้ย 1% สำหรับภาคการท่องเที่ยวและเสื้อผ้า, เสนอค่าไฟฟ้าฟรีในช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

มาเลเซีย รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

1.สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ 4,000 ริงกิตต่อเดือน และต่ำกว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,600 ริงกิต

2.ครัวเรือนที่มีรายได้

4,000-8,000 ริงกิตต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 ริงกิต

3.บุคคลที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 2,000 ริงกิตต่อเดือน จะได้รับ 800 ริงกิต

4.บุคคลธรรมดาที่มีอายุมากกว่า 21 ปี และมีรายได้ 2,000-4,000 ริงกิตต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 500 ริงกิต

5.นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะได้รับเงินช่วยเหลือครั้งเดียว 200 ริงกิต

6.สำหรับกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ และคนจรจัด) จะได้รับความช่วยเหลือผ่านองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้ประกอบการทางสังคม

นอกจากนี้ ยังเลื่อนเวลาชำระภาษี 3 เดือนสำหรับผู้ค้า SMEs, การยกเว้นการจัดเก็บกองทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6 เดือน, ประกาศพักชำระเงินกู้ 6 เดือน, ไม่เก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ยจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการเลื่อนการชำระหนี้

และสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคนงานในท้องถิ่นที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 4,000 ริงกิต จะได้รับเงินอุดหนุนค่าแรงตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ 1.พนักงานมากกว่า 200 คน ได้รับเงินสนับสนุน 600 ริงกิตต่อคน 2.พนักงานระหว่าง 76-200 คน ได้รับเงินอุดหนุน 800 ริงกิตต่อคน และ 3.พนักงานน้อยกว่า 75 คน ได้รับเงินสนับสนุน 1,200 ริงกิตต่อคน

 

กัมพูชา รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีทั้งหมด 3 เดือน ธนาคารขยายเวลาการชำระคืนเงินกู้และปรับโครงสร้างระบบสินเชื่อของตนเอง และขยายขอบเขตของกลไกการให้เงินสนับสนุน โดยคิดจากค่าแรงขั้นต่ำ 20% ให้คนงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของโรงแรม ร้านอาหาร, เกสต์เฮาส์ และตัวแทนการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนกับกรมภาษีอากร

สำหรับภาคการบินกัมพูชาได้ยกเว้นภาษีขั้นต่ำ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 และชะลอเวลาการชำระเงินที่ค้างชำระค่าธรรมเนียมการบินพลเรือน เป็นเวลา 6 เดือน

ส่วนภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ขยายเวลาการยกเว้นภาษีรายเดือนทุกประเภทสำหรับโรงแรม, เกสต์เฮาส์, ร้านอาหาร และตัวแทนการท่องเที่ยวที่ลงทะเบียนกับกรมสรรพากร เป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2563)

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ภาคเอกชน เจ้าของอาคารพื้นที่ธุรกิจ และโรงงาน ช่วยเหลือผู้เช่าโดยไม่ยกเลิกสัญญาหรือขับไล่ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าสนับสนุนให้เจ้าของเจรจากับผู้เช่าเกี่ยวกับการขยายเวลาการชำระเงิน หรือการให้ส่วนลดค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือด้วย

 

ฟิลิปปินส์ รัฐบาลออกโปรแกรมเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (ESP) ของเงินสดหรือเงินช่วยเหลือที่ไม่ใช่เงินสดสำหรับผู้ที่มีรายได้รวม 5,000-8,000 เปโซต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือน และความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้โครงการปรับมาตรการโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน และการจ้างงานจำนวน 5,000 เปโซ ส่วนระบบประกันสังคมนั้นรัฐบาลได้เตรียมเงิน 1.2 พันล้านเปโซ สำหรับผลประโยชน์การว่างงานสำหรับพนักงานเพื่อให้ครอบคลุมการว่างงาน

ส่วนองค์กรที่มีขนาดสินทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านเปโซ อาจกู้ได้ 10,000-200,000 เปโซ ในขณะที่องค์กรที่มีขนาดสินทรัพย์ไม่เกิน 10 ล้านเปโซ อาจกู้ได้สูงสุด 500,000 เปโซ โดยโปรแกรมนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการยกระดับในการกักกันโรค

นอกจากนี้ ยังมีการขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามกฎหมายด้านภาษี, ขยายกำหนดเวลาสำหรับการส่งงบการเงินที่ตรวจสอบแล้ว, ขยายหรือต่ออายุสินเชื่อที่ถึงกำหนดชำระ รวมทั้งประกาศพักชำระหนี้เงินกู้ยืมสำหรับองค์กรขนาดเล็ก, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

 

บรูไน ภาคธนาคารสนับสนุนภาคธุรกิจในรูปแบบของการเลื่อนเวลาในการชำระคืนเงินต้นของเงินทุนหรือสินเชื่อเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว,ธุรกิจการต้อนรับ/การจัดการเหตุการณ์, ธุรกิจร้านอาหาร/ร้านกาแฟ (อาหารและเครื่องดื่ม) และธุรกิจด้านการขนส่งทางอากาศ และให้เงินช่วยเหลือเงินเดือน 25% ให้พนักงานที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 1,500 ดอลลาร์บรูไน เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับภาคการท่องเที่ยวและการบริการ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการขนส่งทางอากาศและทางน้ำ จะได้ส่วนลด 30% สำหรับอัตราค่าเช่าอาคารรัฐบาลสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี และส่วนลด 50% สำหรับภาษีนิติบุคคล, บริษัทสำหรับปี 2563 และส่วนลด 15% สำหรับค่าน้ำและค่าไฟฟ้า รวมถึงให้ชะลอการชำระคืนเงินกู้หรือเงินทุนสำหรับทุกภาคธุรกิจด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์