Accessibility Tools

ศูนย์วิเทศอาเซียน
ASEAN Cooperation Center

image

ศูนย์วิเทศอาเซียน สำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

อาเซียนกับความพยายามคุมเข้ม สกัดการระบาดของโรค "โควิด-19"image
image

ส่องสถานการณ์ไวรัสอาเซียน กับความพยายามคุมเข้มสกัดการระบาดของโรค "โควิด-19" เช่น ฟิลิปปินส์ประกาศเคอร์ฟิว ส่วนอินโดนีเซียได้ประกาศปิดโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ที่เล่นงานกว่า180 ประเทศทั่วโลกขณะนี้ ไม่ค่อยแพร่ระบาดในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่าใดนัก จะมีก็แต่ฟิลิปปินส์ ที่สำนักงานพัฒนากรุงมะนิลาของประเทศฟิลิปปินส์ ประกาศวานนี้ (14มี.ค.)ว่า จะกำหนดมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่วันอาทิตย์(15 มี.ค.)เป็นต้นไปในเขตเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกักกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย รวมเป็น 6 ราย หลังจากที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสู่ระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ 

กระทรวงฯระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายนี้เสียชีวิตเนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคปอดอักเสบ และการบาดเจ็บของไตขั้นรุนแรง

นับจนถึงวันศุกร์(13 มี.ค.) ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวม 64 ราย และประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพขั้นสูงสุด รวมทั้งออกมาตรการกักกันผู้ต้องสงสัยติดเชื้อในกรุงมะนิลา

ส่วน "ลาว" และ "เมียนมา" ก็ยกระดับมาตรการด้านสังคมและสาธารณสุข เพื่อป้องกันประเทศจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยเหมือนกัน โดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของลาวออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์(13มี.ค.) แนะนำผู้ประกอบการในประเทศหลีกเลี่ยงการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มเติม จากประเทศ และดินแดนหรือเขตเศรษฐกิจซึ่งกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ที่ทำเนียบประธานาธิบดีเมียนมา ประกาศยกระดับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่รวมถึงการห้ามจัดงาน ซึ่งจะมีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งครอบคลุมงานสงกรานต์ปีนี้ ก็ต้องยกเลิกด้วย และเตรียมกำหนดแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เนื่องจากสายงานการผลิตส่วนใหญ่ในเมียนมาอาศัยวัตถุดิบจากจีน

ขณะที่ลาว สั่งยกระดับมาตรการคัดกรองด้านสาธารณสุขตามจุดผ่านแดนทุกแห่ง โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานแห่งชาติ ซึ่งนอกจากพลเมืองต่างชาติต้องเข้ารับการตรวจวัดอุณหภูมิแล้ว อาจต้องผ่านกระบวนการคัดกรองอื่นๆตามแต่เจ้าหน้าที่เห็นสมควร 

ขณะนี้ หน่วยงานทุกแห่งในลาวไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนขอร้องให้บริษัทต่างๆหารือกันอย่างรอบคอบ ในการส่งแรงงานไปยังต่างประเทศ และการรับแรงงานต่างด้าวเพิ่ม รวมทั้งนายจ้างต้องให้ความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องกับลูกจ้างทั้งที่เป็นชาวลาวและชาวต่างชาติ ในการป้องกันโรคโควิด-19 

ส่วนกัมพูชา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกาศห้ามเรือสำราญทั้งหมดเข้าประเทศโดยผ่านจุดตรวจผ่านแดน บริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม “กาโอม ซัมนอร์” หวังสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

“โมก ซิเดธ” อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำ การเดินเรือทั่วไป และท่าเรือ สังกัดกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชา กล่าวว่า คำสั่งห้ามนี้มีผลบังคับใช้ทันทีจนกว่าจะมีการตัดสินใจครั้งใหม่

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพบนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 3 คนบนเรือล่องแม่น้ำโขง “ไวกิง ครูส เจอร์นีย์” ที่มีผลการทดสอบไวรัสเป็นบวก โดยเรือลำดังกล่าวพานักท่องเที่ยว 30 คนและลูกเรือ 34 คนออกจากท่าเรือมีเถ่อ ในโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 มี.ค. และมาถึงกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผ่านกาโอม ซัมนอร์ ก่อนเดินทางมาถึงเมืองกำปงจาม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 มี.ค.

ผู้ป่วยชาวอังกฤษ 3 ราย เป็นสามีภรรยาคู่หนึ่งและผู้หญิง 1 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาและเฝ้าระวังอาการ ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรืออีก 61 รายซึ่งมีผลการทดสอบไวรัสเป็นลบ อยู่ระหว่างกักตัวที่โรงแรมในเมืองกำปงจาม เพื่อรอรับการตรวจสุขภาพต่อไป 

ขณะที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย จะปิดโรงเรียนและให้สอนออนไลน์เป็นเวลาสองสัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป 

“อานีส บาสเวดัน” ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา แถลงว่า จะปิดโรงเรียนทุกแห่งและให้สอนออนไลน์อย่างน้อยสองสัปดาห์เริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้า เพื่อยับยั้งโรคโควิด-19 ระบาด หลังจากพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว 69 คนทั่วประเทศ หลายคนอยู่ในกรุงจาการ์ตา ที่มีประชากรมากถึง 10 ล้านคน ส่วนตัวเลขผู้ต้องเฝ้าระวังในกรุงจาการ์ตา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 129 คนเมื่อต้นเดือนนี้เป็น 586 คน จนถึงเมื่อวันที่ 12 มี.ค. และผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อเพิ่มจาก 39 คนเป็น 261 คน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด